ประเด็นร้อน
แก้ก.ม.แสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ปิดกั้นภาคประชาชนตรวจสอบ?
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 15,2017
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการวาระแรกไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประประธาน ดำเนินการยกร่างและมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน ขึ้นมาพิจารณารายมาตราในวาระที่ 2 กำหนดแล้วเสร็จภายใน 58 วัน
โดยในขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เริ่มเดินหน้าประชุมไปบ้างแล้วบางส่วน และขณะเดียวกันก็เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตามมา โดยเฉพาะความเหมาะสมของกรรมาธิการบางคน เนื่องจากมีคดีถูกกล่าวหา อยู่ที่ ป.ป.ช. ที่มีผู้แสดงความกังวลว่าจะเข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ อย่างไรก็ตามผ่านจากประเด็นความเหมาะสมของตัวบุคคล ก็ได้เกิดประเด็นใหม่ในเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
มีการระบุว่าในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. จะเปิดเผยเพียงข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับ บัญชีทรัพย์สินฯ เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ของร่างพ.ร.ป. บัญญัติเอาไว้ว่า "เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลโดยสรุป เกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินและที่ตั้งของทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉพาะ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ,สมาชิกวุฒิสภา ,ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ,ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว
ข้อมูลโดยสรุปดังกล่าว ต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น หรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด"
ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวแตกต่างไปจากมาตรา 35 วรรคสอง ของ พ.ร.ป. ป.ป.ช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบัน ที่บัญญัติว่า บัญชีและเอกสารของนายกรัฐมนตรี ,รัฐมนตรี, ส.ส. , ส.ว. ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว
ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯของผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ที่ยื่นไว้กับ ป.ป.ช. ต่อสาธารณชนโดยละเอียด ทำให้บุคคลภายนอกและประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การดำเนินคดีกับ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯไว้โดยไม่ถูกต้องมาแล้วหลายคดี
กรณีดังกล่าวเมื่อสอบถามไปยัง กรธ.หลายคน ที่มีส่วนในการยกร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช.ฉบับใหม่ถึงเหตุผล ที่ให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯโดยสรุป ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างละเอียดเหมือนเมื่อก่อน ได้รับคำอธิบายว่า มองไปถึงในเรื่องของการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ อีกทั้งผู้ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เป็นการยื่นตามที่กฎหมายระบุไว้ว่าให้คนเหล่านั้นต้องยื่น ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้นการที่นำบัญชีทรัพย์สินฯที่ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. ไปเปิดเผยอย่างละเอียดต่อสาธารณชน จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เป็นการเห็นใจคนที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เพราะบัญชีทรัพย์สินมีรายละเอียดของมันอยู่
"เมื่อเราให้อำนาจกับ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯ อย่างเต็มที่ตามข้อมูลที่ต้องยื่นอย่างละเอียดต่อ ป.ป.ช. หลักฐานต่างๆ ก็อยู่ที่ ป.ป.ช.อยู่แล้ว ก็ต้องมองอีกด้านว่า คนที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ มีอะไรมาคุ้มครองเขาหรือไม่ การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯจึงต้องมีความพอดี"
ส่วน กรธ.บางคนก็บอกว่า เนื่องจาก รัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา 234(3) บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง...ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน,คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ซึ่งแตกต่าง จากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 261 ที่บัญญัติว่า บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว
เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญปี2560 ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพียง "เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน" เท่านั้น ซึ่งผลการตรวจสอบเปิดเผยได้แค่ไหนเพียงไรขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 บังคับให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อสาธารณะโดยเร็ว ดังนั้นถ้าเขียน ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เหมือนกับ พ.ร.ป. ป.ป.ช.ปัจจุบัน ก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้
อย่างไรก็ตามมีคนไม่น้อยที่มองต่างมุม ในเรื่องนี้ว่า การที่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ โดยสรุป ก็เหมือนกับไม่เปิดเผย เพราะไม่สามารถทำให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้เลยว่าทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เป็นการเขียนกฎหมายในลักษณะเป็น"หลุมล่อ" ให้ภาคประชาชนดีใจว่าได้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วเท่านั้น ในที่สุดก็ไม่สามารถ จับผิดนักการเมืองได้เพราะมีข้อมูล ไม่เพียงพอ
อีกทั้งเห็นว่า ป.ป.ช. ไม่มีมือไม้เพียงพอ ที่จะตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีจำนวนหลายร้อยคน และมีเอกสารจำนวนมากได้ ดังนั้น การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯอย่างละเอียดให้สาธารณชนรับทราบ ภาคประชาชนจะได้ช่วย ป.ป.ช. ตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า สุดท้ายร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฉบับใหม่ จะได้รับการแก้ไขหรือมีทางออกอย่างไร หรือยังคงเดิมในประเด็นนี้
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน